วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2553

สาระสำคัญ
การศึกษาปัจจุบันส่งเสริมให้ผู้เรียน คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น และส่งเสริมให้ผู้เรียนศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองมากขึ้น การเสนอรายงานจึงมีบทบาท และสำคัญยิ่งในการเรียนการสอนซึ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนทำงานให้เป็นระเบียบเรียบร้อย มีเหตุผล มีทักษะในการใช้ภาษาเพราะการเขียน หรือเรียบเรียงข้อมูลในรายงาน จะต้องทำอย่างเป็นระบบ ต้องอ้างอิงหลักฐาน หรือมีข้อเท็จจริงมาสนับสนุนเรื่องราวที่ได้รวบรวมมา เพื่อเป็นรายงาน

ความหมายของรายงาน
ได้มีผู้ให้ความหมายของคำว่ารายงาน “รายงาน” ไว้หลายความหมายด้วยกันเช่น วาณี ฐาปนวงศ์ศานติ (2539 : 98) กล่าวว่ารายงานหมายถึง กิจกรรมในการศึกษาที่นับเป็นการประเมินผล การศึกษาส่วนหนึ่ง มีหลาบแบบเช่น การทดลอง การสำรวจ หรือวิธีการอื่นๆ ที่ผู้สอนจะกำหนดให้นักศึกษาทำ อาจเป็นรายงานบุคคล หรือกลุ่ม ทั้งนี้แล้วแต่ลักษณะวิชา และผลของรายงานจะต้องเขียนตามแบบที่สถาบันนั้นกำหนด
บุปผา สุดสวัสดิ์ (2524 : 64) กล่าวว่า รายงานหมายถึง การศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง แล้วนำข้อมูลนั้นมาเรียบเรียงขึ้นใหม่ อย่างมีระเบียบแบบแผน มีเนื้อหาต่อเนื่อง และสมบูรณ์ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการประเมิลผลด้วย
จากคำจำกัดความ หรือความหมายดังกล่าว สรุปได้ว่า รายงาน หมายถึงเรื่องราวที่ได้ศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องใดเรืองหนึ่งอย่างถูกต้อง สมบูรณ์ แล้วนำข้อมูลนั้นมาเรียบเรียง
ขึ้นใหม่อย่างมีระเบียบแบบแผน จากนั้นจึงเขียน หรือพิมพ์ขึ้นตามแบบแผนที่นิยมเป็นสากล


จุดมุ่งหมายการเขียนรายงาน
การเขียนรายงาน ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองจากแหล่งความรู้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ สิ่งพิมพ์อื่นๆ วิทยุ โทรทัศน์ ฯลฯ จากการที่ปัจจุบันการเรียนการสอนมักเน้นให้ผู้เรียนมีการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองมากขึ้นทั้งนี้เพื่อให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีความรับผิดชอบในการทำงาน ผู้สอนจึงมักมอบหมาย หรือกำหนดให้ผู้เรียนเสนอผลงานการเรียนรู้ออกมาในรูปแบบของรายงาน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายดังนี้
1. เพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง มีความรู้กว้างขวาง และลึกซึ้งกว่าการศึกษาจากตำรา หรือ จกห้องเรียนเพียงอย่างเดียว
2. เพื่อให้ผู้เรียนมองเห็นแนวทางในการศึกษาหาความรู้ และรู้จักแหล่งความรู้ต่างๆ
3. เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักใช้วิจารณญาณของตนเอง มีความคิดมีเหตุผล และสามารถรวบรวมข้อมูลอย่างมีหลักฐาน
4. เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนรักการอ่าน และการค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆ
5. เพื่อให้ผู้เรียนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
6. เพื่อฝึกให้ผู้เรียนมีทักษะในการใช้ภาษา ถ่ายทอดความคิดของตนเองให้ผู้อื่นอ่านเกิดภาพพจน์ และจินตนาการ
7. เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจรูปแบบ ขั้นตอนการเขียนรายงานที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นพื้นฐานของการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น

ประเภทของรายงาน
โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
1. รายงานทั่วไป
2. รายงานทางวิชาการ
1. รายงานทั่วไป หมายถึง รายงานข้อเท็จจริง หรือข้อคิดเห็นของบุคคล องค์การ สถาบันต่างๆ ซึ่งได้ดำเนินไปแล้ว หรือกำลังดำเนินอยู่ หรือจะดำเนินต่อไป เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาผู้ร่วมงาน หรือผู้สนใจทราบ ได้แก่
1.1 รายงานทางราชการ หมายถึงข้อเขียนที่เป็นคำกล่าวรายงานในพิธีของทางราชการ เช่น พิธีเปิดการสัมมนา พีเปิดการแข่งขัน พิธีการประกวด ฯลฯ เป็นการรายงานให้ทราบถึงความเป็นมาของงาน การดำเนินงาน ผู้ร่วมงาน ระยะเวลาของงาน จำนวนผู้ร่วมงาน และลงท้ายด้วยการเชิญประธานในพิธีกล่าวเปิดงาน
1.2 รายงานการประชุม หมายถึง รายงานที่เกิดจากการประชุม เรียกว่ารายงานบันทึกการประชุม ทุกครั้งที่หน่วยงานมีการประชุม จะต้องมีการบันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่องค์ประชุมกล่าวถึง ตั้งแต่เริ่มประชุม จนสิ้นสุดการประชุม และรายงานการประชุมนี้ต้องรายงานให้ที่ประชุมรับรองในการประชุมครั้งต่อไป
1.3 รายงานข่าว หมายถึง ข้อเขียนที่เขียนขึ้น หรือพูดขึ้น เพื่อรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ข่าวที่รายงานต้องเป็นเรื่องจริง และมีหลักฐานยืนยันได้
2. รายงานทางวิชาการ หมายถึง การเสนอข้อเท็จจริงที่ได้จากการศึกษาค้นคว้า หรือวิจัยอย่างมีระบบของบุคคล กลุ่มบุคคล หน่วยงาน ได้ข้อเท็จจริงอย่างไรก็รายงานไปอย่างนั้นตามความเป็นจริง รายงานทางวิชาการอาจเป็นรายงานการค้นคว้าทดลอง หรือเอกสารการสำรวจการวิจัย ซึ่งนิยมในปัจจุบัน
รายงานทางวิขาการแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
2.1 รายงาน (Report)
2.2 ภาคนิพนธ์ (Term paper)
2.3 วิทยานิพนธ์ หรือปริญญานิพนธ์ (Thesis or Dissertation)
2.1 รายงาน (Report) ได้แก่
2.1.1 กิจกรรมอย่างหนึ่งในการศึกษา และเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินผลการศึกษา
2.1.2 เรื่องที่เรียบเรียงขึ้นตามแบบแผนที่สถาบันนั้นกำหนด
2.1.3 ผลการศึกษาค้นคว้าโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือหลายวิธี เช่น การสังเกต การทดลอง การสำรวจ ฯลฯ
2.1.4 รายงานที่ผู้สอนกำหนดให้ผู้เรียนทำเป็นรายบุคคล หรือทำเป็นกลุ่มตามความเหมาะสม
2.1.5 วิธีที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า หรือความสั้น ยาวของรายงาน ย่อมแตกต่างไปตามหัวข้อเรื่อง
2.2 ภาคนิพนธ์ (Term paper) ได้แก่คำอธิบายของรายงาน 5 ข้อข้างต้นและ
2.2.1 ภาคนิพนธ์เป็นรายงานทางวิชาการที่ครอบคลุม สัมพันธ์ กับเนื้อหาทั้งหมดของวิชาที่เรียน หรือที่ยังไม่ได้เรียน และผู้สอนมอบหมายให้ผู้เรียนค้นคว้าเพิ่มเติม
2.2.2 ภาคนิพนธ์อาจไม่จำเป็นต้องแสดงความคิดริเริ่มในแนวการค้นคว้าวิจัยที่เป็นของผู้เรียน ซึ่งต่างกับลักษณะของปริญญานิพนธ์
2.2.3 ภาคนิพนธ์มุ่งให้ผู้เขียนแสดงความสามารถโดยเฉพาะในหัวข้อ หรือเรื่องราวที่ไม่ได้ศึกษากันอย่างลึกซึ้งในชั้นเรียน ในเรื่องต่อไปนี้
- ความสามารถที่จะค้นหา และรวบรวมข้อมูลจากห้องสมุด เพื่อ
ประกอบงานนั้นให้มีคุณค่ายิ่งขึ้น
- ความสามารถที่จะเลือกเฟ้นข้อมูล ข้อเท็จจริง และความคิด โดย
นำเอาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อเรื่องที่ต้องการศึกษามาใช้ให้มีคุณค่า
- ความสามารถจัดระบบ เรียบเรียงข้อมูลด้วยภาษาที่ถูกต้อง ชัดเจน
ลำดับ ความคิดที่เป็นเหตุผล และดำเนินตามรูปแบบการเขียนที่สถาบันนั้นกำหนด
2.2.4 ในรายวิชาหนึ่งๆ ผู้สอนอาจกำหนดให้ผู้เรียนทำแต่รายงาน หรือ
วิทยานิพนธ์หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออาจให้ทำทั้ง 2 อย่างก็ได้
ตามความเหมาะสม
2.3 วิทยานิพนธ์ หรือปริญญานิพนธ์ (Thesis or Dissertation) ได้แก่
2.3.1 รายงานการค้นคว้าวิจัยที่นิสิตปริญญาโท และปริญญาเอกต้องทำตาม
หลักสูตรของการศึกษา มี ปริมาณ และคุณภาพที่สูงกว่าภาคนิพนธ์
2.3.2 ผลงานการศึกษาค้นคว้าวิจัย ใช้เวลาศึกษาค้นคว้าไม่น้อยกว่า 1 ปี
และผู้เขียนต้องรับผิดชอบในการเลือกหัวข้อเรื่อง และกำหนดขอบเขตที่ต้องศึกษาค้นคว้าให้ลึกซึ้งกว่าภาคนิพนธ์
2.3.3 วิทยานิพนธ์ หรือปริญญานิพนธ์ในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก
ต้องมีคุณภาพทางวิชาการที่สูงกว่ากันตามลำดับ

ส่วนประกอบของรายงาน และภาคนิพนธ์
รายงาน และภาคนิพนธ์มีส่วนประกอบที่สำคัญ 3 ส่วน คือ ส่วนประกอบตอนต้นเนื้อเรื่อง และส่วนประกอบตอนท้าย แต่ละส่วนมีรายละเอียดดังนี้
1. ส่วนประกอบตอนต้น ประกอบด้วย
1.1 ปกนอก
1.2 ใบรองปก
1.3 ปกใน
1.4 คำนำ คือส่วนที่บอกเหตุผล หรือแรงจูงใจที่ทำรายงานเรื่องนั้นๆ หัวข้อเนื้อหาคร่าวๆ จากนั้นอาจกล่าวแสดงความขอบคุณผู้ให้ความช่วยเหลือ ประโยชน์
1.5 สารบัญ คือ หัวข้อสำคัญของเนื้อหา ซึ่งต้องแบ่งเป็นบท และบอกเลขหน้าที่ปรากฏเนื้อหานั้นๆ
1.6 สารบัญตาราง หรือบัญชีตาราง
1.7 สารบัญรูปภาพ หรือสารบัญภาพประกอบ
2. เนื้อเรื่อง ประกอบด้วย
2.1 ส่วนประกอบที่เป็นเนื้อหา ได้แก่
2.1.1 บทนำ เป็นการกล่าวนำเนื้อหาในเรื่องที่ทำ
2.1.2 เนื้อเรื่อง
2.1.3 สรุป
2.2 ส่วนประกอบในเนื้อหา ได้แก่
2.2.1 อัญประภาษ
2.2.2 เชิงอรรถ
2.2.3 ตาราง
2.2.4 ภาพประกอบ
3. ส่วนประกอบตอนท้าย ประกอบด้วย
3.1 หน้าบอกตอน
3.2 บรรณานุกรม
3.3 ภาคผนวก
3.4 อภิธานศัพท์

การจัดเรียงหัวข้อต่างๆ ในการเขียนรายงาน จะต้องมีครบทั้ง 3 ส่วนใหญ่ๆดังกล่าว แต่หัวข้อย่อยบางหัวข้อ อาจมีหรือไม่มีก็ได้ ขึ้นอยู่กับเรื่องราวที่ศึกษาค้นคว้า ซึ่งผู้เขียนจะทราบดีว่าหัวข้อย่อยข้อใดจำเป็น หรือไม่จำเป็นในการเขียนรายงาน



ขั้นตอนการเขียนรายงาน
1. เลือกเรื่อง
การตั้งชื่อเรื่อง ควรเป็นวลี หรือประโยคที่เป็นข้อความกะทัดรัด สื่อความหมายชัดเจน
การเลือกเรื่องที่จะทำรายงาน ส่วนใหญ่ผู้สอนมักให้โอกาสผู้เรียนเลือกเอง เพื่อให้
ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็น ความสามารถของตนเอง ในการเลือกเรื่องที่จะทำรายงานควรเป็นเรื่องที่
1. เป็นเรื่องที่ผู้ทำมีความรู้ ความสนใจเป็นพิเศษ เป็นประโยชน์ต่อตนเอง และผู้อ่าน
เพราะเมื่อมีความรู้ ความสนใจ ย่อมทำให้เขียนได้ง่ายขึ้น
2. เป็นเรื่องที่สามารถหาข้อมูลมาประกอบการเขียนได้มากพอ
3. เป็นเรื่องที่สามารถใช้เวลาได้เหมาะสมกับหัวข้อ และกำหนดส่งของรายงาน
4. เป็นเรื่องที่มีขอบเขตเนื้อหาเหมาะสม ไม่กว้าง หรือแคบเกินไป ถ้ากว้างเกินไป
ถ้ากว้างเกินไปอาจทำให้เขียนได้ผิวเผิน ไม่มีจุดสำคัญให้เจาะลึก ถ้าแคบเกินไปทำให้หาข้อมูลรายละเอียดได้จำกัด ซึ่งมีวิธีกำหนดขอบเขตเนื้อหาของเรื่องให้เหมาะสมดังนี้
4.1 ใช้แง่มุมที่เหมาะสมของเรื่องเป็นตัวกำหนด เช่น
ปัญหาสังคม กำหนดเป็น ปัญหายาเสพติด ปัญหาชุมชนแออัด ปัญหา
วัยรุ่น
4.2 ใช้ยุคสมัยเป็นตัวกำหนด เช่น
ประเพณีไทย กำหนดเป็น ประเพณีไทยสมัยกรุงสุโขทัย ประเพณีไทย
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ฯลฯ
4.3 ใช้ขอบเขตทางภูมิศาสตร์เป็นตัวกำหนด เช่น
ประเพณีไทย กำหนดเป็น ประเพณีไทยในภาคอีสาน ประเพณีไทย
ภาคใต้
4.4 ใช้กลุ่มบุคคล เป็นตัวกำหนด เช่น
การขุดคอคอดกระ กำหนดเป็น การขุดคอคอดกระในทัศนะของ
นักเศรษฐศาสตร์ ฯลฯ



2. สำรวจแหล่งข้อมูล
เพื่อเป็นการสะดวก และประหยัดเวลาในการค้นหาข้อมูลเพื่อที่จะทำรายงาน นอกจากจะค้นหาจากแหล่งสารนิเทศต่างๆ เช่น ห้องสมุด ศูนย์สารนิเทศ ศูนย์เอกสารสนเทศ สื่อโสตทัศน์และอื่นๆแล้ว การค้นหาข้อมูลในแหล่งสารนิเทศก็ควรรู้จักวิธีการต่างๆ และใช้เครื่องมือช่วยค้นเพื่อที่จะทำให้ได้ข้อมูลเร็วขึ้น ได้แก่
1. บัตรรายการ
2. ดรรชนี
3. หนังสืออ้างอิง
4. บรรณานุกรม
5. บริการตอบคำถามและช่วยการค้นคว้า
3. อ่านเพื่อจดบันทึก
การบันทึก หรือการจดโน้ต หมายถึงการบันทึก หรือจดเรื่องราวจากการบรรยายปาฐกถาจากการสอนของครู อาจารย์ จากวิทยุ โทรทัศน์ หรือการบันทึกสรุปย่อจากหนังสือ หรือสิ่งพิมพ์ต่างๆ เพื่อประกอบการค้นคว้า ทำรายงาน ซึ่งมีทั้งการจดบันทึกจากการอ่าน และบันทึกจากการฟังในการเขียนรายงาน การจดบันทึกจากการอ่าน ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งว่าเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้เพราะสามารถใช้เป็นข้อมูลในการประกอบเนื้อหา สนับสนุนให้รายงานมีน้ำหนัก และสมบรูณ์ยิ่งขึ้น การอ่านเพื่อการจดบันทึกนั้น ตอนแรกควรอ่านอย่างคร่าวๆ เพื่อให้เข้าใจเนื้อหาโดยตลอด ไม่จำเป็นต้องอ่านทุกประโยค ทุกตัวอักษร เลือกอ่านเฉพาะที่สำคัญ และเกี่ยวกับเรื่องที่จะทำรายงาน อาจอ่านเฉพาะย่อหน้าแรก และย่อหน้าสุดท้าย เพราะประโยคสำคัญมักอยู่ตอนต้น และย่อหน้าสุดท้าย ซึ่งมักเป็นการสรุปเรื่อง จากนั้นจึงอ่านโดยตั้งคำถาม ว่าเราต้องการอะไรจากเรื่องที่อ่าน เช่น
ใครทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร ทำทำไม ผลเป็นอย่างไร สุดท้ายจึงอ่านโดยใช้วิจารณญาณ
ต้องอ่านอย่างละเอียดพิจารณาเนื้อหาว่ามีเหตุผลน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด ส่วนใดสำคัญพอที่จะนำมาอ้างอิงได้จากนั้นจึงจดบันทึก



การจัดบันทึก

เมื่ออ่านจนเข้าใจเนื้อหาสำคัญแล้ว ควรบันทึกรายละเอียดไว้เพื่อป้องกันเมื่อลงมือเขียนรายงาน จะไม่ต้องย้อนกลับไปอ่านใหม่ ในการจดบันทึกเนื้อหา ส่วนใหญ่มักบันทึกลงในบัตรขนาด 4 X 6นิ้ว หรือ 5 X 8นิ้ว หรือใช้กระดาษสมุดแบ่งครึ่งก็ได้ เลือกใช้ตามสะดวก โดยบันทึก

1. หัวข้อเรื่อง บันทึกหัวข้อเรื่องที่ค้นได้ โดยเขียนไว้ที่มุมขวาของบัตร

2. แหล่งที่มาของข้อมูล เช่น ชื่อผู้แต่ง ปีที่พิมพ์ ชื่อหนังสือ ครั้งที่พิมพ์ สถานที่พิมพ์
สำนักพิมพ์ และหน้าที่ปรากฏข้อความนั้น ตามแบบบรรณานุกรม เพื่อเป็นหลักฐานในการค้นคว้าเพิ่มเติมภายหลัง

3. ข้อมูลที่บันทึก บันทึกเฉพาะเนื้อหาที่คิดว่าสำคัญ และเป็นประโยชน์ในการเขียนรายงาน และควรบันทึกให้ถูกต้องสมบรูณ์ที่สุด ไม่ควรใช้ตัวย่อโดยไม่จำเป็น เพื่อไม่ต้องเสียเวลากลับไปค้นคว้าใหม่ การบันทึกลงในบัตร หัวข้อเรื่องหนึ่งควรใช้บัตร 1 แผ่น ถ้าเนื้อหายาวไม่จบใน 1 บัตร ก็สามารถต่อแผ่นที่ 2,3... โดยเขียนหัวข้อเรื่อง และกำกับด้วยหมายเลขในทุกแผ่นใช้คลิบหนีบรวมไว้ด้วยกัน หรือเย็บมุมติดกันไว้ แบะควรบันทึกหน้าเดียว


วิธีจดบันทึก
ในการจดบันทึกเพื่อทำรายงาน อาจจดบันทึกด้วยวิธีหนึ่ง หรือหลายวิธีต่อไปนี้
1. การจดบันทึกแบบย่อความ คือ การย่อเอาเฉพาะใจความสำคัญที่เกี่ยวกับรายงานแล้วนำมาเรียบเรียงใหม่ อาจใช้สำนวนของตนเองก็ได้ แต่ต้องให้ได้ใจความตามต้นฉบับเดิม




ภาษากับความมั่นคงของชาติ
เยาวลักษณ์ ญาณสภาพ. (2533). “ภาษากับความมั่นคงของชาติ” ใน ที่ระลึกพิธีประกาศ
เกียรติคุณครูภาษาไทยดีเด่นประจำปีพุทธสักราช 2532 กรุงเทพฯ : กอง
วรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. หน้า 170.
สาเหตุที่คนไทยใช้ภาษาไทยผิด เพราะ
1. วงการศึกษาให้ความสำคัญวิชาภาษาไทยน้อยมาก โดยเฉพาะหลักสูตรที่มี
การเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยๆ
2. อิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตก ปัจจุบันคนไทยพูดภาษาไทยปน
ภาษาต่างประเทศแม้แต่ชื่อบริษัท หรือชื่อวงดนตรีที่โด่งตังก็จะใช้ภาษาต่างประเทศ
3. สื่อมวลชนมักใช้ภาษาไทยผิดแบบแผน เพื่อเร้าความสนใจ ทำให้ผู้อ่าน
จดจำและนำไปใช้ผิดไปด้วย


2. การจดบันทึกแบบถอดความ คือ การเขียนขึ้นใหม่ทั้งหมดจากต้นฉบับ
เดิม ซึ่งอาจเป็นร้อยกรอง หรือ ภาษาต่างประเทศ แล้วถอดความเป็นสำนวนของผู้บันทึกเอง หรือเป็นข้อความที่ไม่สำคัญพอที่จะใส่ในเครื่องหมายอัญประกาศ หรือถ้าคัดลอกข้อความมาอาจยาวเกินไปจึงเขียนขึ้นเป็นสำนวนตัวเอง
วรรณคดี
เสถียร โกเศศ(พระยาอนุมานราชธน). (2515). ค่าของวรรณคดี. กรุงเทพฯ : คลังวิทยา. หน้า18.
ความคมของคำกล่าวที่เห็น จะอยู่ที่การเปรียบเทียบชีวิตของคน ว่ามีถึงสองชีวิต คือ
ชีวิตทาอาชีพ เปรียบได้กับชีวิตที่เกี่ยวข้องอยู่กับวัตถุ หรือทรัพย์สินเงินทอง อีกชีวิตหนึ่งเป็นด้านของชีวิตที่นำความสุข ความอิ่มเอิบมาสู่ผู้ที่เห็นคุณค่าของชีวิตในด้านนี้ ซึ่งมีคนไม่น้อยที่ไม่เห็นความสำคัญของชีวิตด้านนี้ เพราะมุ่งไปทางวัตถุเป็นสำคัญ ซึ่งน่าเสียดาย เพราะทำให้เห็นชีวิตในด้านเดียว มองชีวิตในทัศนะที่แคบ

3. การบันทึกแบบคัดลอกข้อความหรือคำพูด คือ ข้อความนั้นสำคัญมาก ไม่สามารถเขียนได้ดีเท่าของเดิม การบันทึกแบบนี้ต้องคัดลอกให้ถูกต้องตามต้นฉบับทุกคำพูด ถ้าข้อความยายเกินไป ต้องการจะตัดตอนเอาเฉพาะที่สำคัญให้ใช้จุด 3 จุด(...) ตรงข้อความที่ตัดออก แต่ต้องใส่เครื่องหมายอัญประกาศ (“ ”) คลุมข้อความทั้งหมดไว้ด้วย

มีผู้กล่าวว่าลักษณะของข้อความที่บันทึกโดยวิธีคัดลอกข้อความนี้มักจะมีลักษณะอยู่ในเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้
3.1 เป็นคำจำกัดความ หรือความหมายของคำ
3.2 เป็นสูตร กฎ หรือระเบียบ
3.3 เป็นข้อความที่เป็นคติเดือนใจ มีความงดงามทางภาษา เช่น สุภาษิตคำพังเพย โอวาท หรือสุนทรพจน์ของบุคคล
สมองมีไว้คิด
ถนอมวงศ์ ล้ำยอดมรรคผล. (2529). การอ่านให้เก่ง. พิมพ์ครั้งที่2. กรุงเทพฯ : กระดาษสา.
หน้า 17.
“ใครที่นั่งหลับเวลาเรียนบ่อยๆ จงรู้เกิดว่า เป็นเพราะไม่ได้ติดตาม หรือไม่ได้คิด ด้านถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟัง การคิดและตั้งคำถามเป็นวิธีแก้ง่วงที่ชะงัดที่สุด หากลุกขึ้นถามปัญหานั้น ก็จะหายง่วงทันที ปัญหาที่คิดนั้นอาจเป็นปัญหาที่ตัวเองรู้คำตอบดีอยู่แล้วก็ได้ หรือไม่ทราบคำตอบจริงๆก็ได้ ถ้ารู้จักถาม อาจได้คำตอบที่ไม่คาดคิดมาก่อนก็ได้ เมื่อคุณอ่านก็เช่นกันหากหมั่นถามตัวเองก็จะไม่ง่วง บางทียังได้อะไรใหม่ๆที่ไม่เคยได้จากการอ่านครั้งก่อนก็ได้"
4. การบันทึกแบบวิจารณ์หรือสรุปความ เป็นการสรุปความคิดเห็นของตนเองหลังจากการอ่านเรื่องนั้นแล้ว อาจเปรียบเทียบ สรุป วิจารณ์ สนับสนุนโต้แย้งความคิดนั้น
สารนิเทศ
ประภาวดี สืบสนธิ์. (2532). “พฤติกรรมสารนิเทศ” ชมรมนิสิตวิชาบรรณารักษศาสตร์จุฬา.
9 (ฉบับฉลองหลักสูตรบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์). หน้า 24.
ผู้เขียนได้แบ่งสารนิเทศไว้ 2 ประเภท คือ แหล่งสารนิเทศภายในตัวบุคคล และแหล่ง
สารนิเทศภายนอกตัวบุคคล ซึ่งแหล่งสารนิเทศภายนอกตัวบุคคลยังแบ่งได้อีก 3 แหล่ง คือ แหล่ง
บุคคลแหล่งสถาบัน และแหล่งที่เป็นสื่อมวลชน
4. วางโครงเรื่อง
เป็นการจัดลำดับเนื้อหาก่อนการเขียนรายงาน เพื่อให้มองเห็นรูปแบบและรายละเอียดที่สัมพันธ์กัน ครอบคลุมเนื้อหาครบถ้วน ไม่เสียเวลาในการค้นหาข้อมูล ดังนั้นจึงควรมีการวางโครงเรื่อง โดย
4.1 จัดเรียงความสำคัญของเนื้อเรื่องโดยกำหนดเป็นหัวข้อใหญ่ สำคัญรองลงมา
เป็นหัวข้อย่อย
4.2 แต่ละหัวข้อควรมีชื่อเป็นข้อความกะทัดรัด ได้ใจความครอบคลุมเนื้อหาแต่
ละตอน
4.3 หัวข้อต่างๆควรมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันตามลำดับ และไม่ควรแบ่งย่อย
เกินไป เพราะจะทำให้สับสน เข้าใจยาก
4.4 การแบ่งหัวข้อ ควรใช้ตัวเลขกำกับแสดงหัวข้อใหญ่ และหัวข้อย่อยต่อเนื่องกัน
โดยใช้เครื่องหมายยมหัพภาค ควรใช้ตัวเลขเพียง 3 ตัว ถ้าแบ่งย่อยกว่านั้น
ควรใช้ย่อหน้าแทน
ตัวอย่างการวางโครงเรื่อง
หนังสืออ้างอิง
1. ความหมายของหนังสืออ้างอิง
2. ลักษณะของหนังสืออ้างอิง
2.1 เขียนโดยผู้ทรงคุณวุฒิ
2.2 รวบรวมความรู้ครอบคลุมสาขาวิชาต่างๆ
2.3 จัดเรียงเนื้อหาอย่างมีระบบ ทำให้ค้นง่าย สะดวก รวดเร็ว
2.3.1 จัดเรียงตามลำดับตัวอักษร
2.3.2 จัดเรียงตามเวลา หรือเหตุการณ์
2.3.3 จัดเรียงตามลำดับหมวดหมู่
2.4 มีเครื่องมือช่วยค้น
2.4.1 อักษรนำเล่ม (Volume Guide)
2.4.2 คำชี้นำ (Guide Word)
2.4.3 ดรรชนีนิ้วมือ (Thumb Index)
2.4.4 ดรรชนี (Index)
2.5 มีความประณีตในการจัดทำ
2.5.1 กระดาษมีคุณภาพดี
2.5.2 ตัวพิมพ์มีความคมชัด
2.5.3 การเข้าเล่มได้มาตรฐาน
5. เรียบเรียงเนื้อหาฉบับร่าง
โดยจัดเรียงบัตรบันทึกให้เป็นหมวดหมู่ โดยแยกหัวข้อเรื่องเดียวกันไว้ด้วยกันและจัดลำดับหัวข้อเรื่องตามโครงเรื่องที่วางไว้ เรียงตามลำดับหัวข้อใหญ่ หัวข้อย่อยให้เหมาะสมตามข้อมูลบางหัวข้อไม่จำเป็นต้องใช้ ให้แยกต่างหาก อย่าทิ้งเพราะอาจต้องนำมาใช้เพิ่มเติมภายหลัง จากนั้นลงมือเขียนรายงาน โดยประมวลข้อมูล ความรู้ ความคิดทั้งหมดเข้าด้วยกัน ด้วยภาษา สำนวนที่สละสลวย อ่านเข้าใจง่าย ตัวสะกด ตัวการรันต์ถูกต้องตามพจนานุกรม แสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผลให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจได้ง่าย ข้อความใดที่คัดลอกมา ควรเขียนเชิงอรรถ หรือแหล่งที่มาให้ถูกตองตามแบบแผน หากมีรูปภาพ ตาราง แผนภูมิ ก็จะทำให้รายงานสมบรูณ์ยิ่งขึ้น
6. จัดทำฉบับสมบรูณ์
ทบทวน ตรวจทาน แก้ไข ความถูกต้องสมบรูณ์ของเนื้อหา และภาษา รูปแบบการพิมพ์การเว้นระยะต่างๆ ตลอดถึงการจัดรูปเล่มควรเรียงลำดับหน้าต่างๆอย่างไร เมื่อเห็นว่าถูกต้องสมบรูณ์แล้วจึงนำไปเข้าเล่ม และนำส่งอาจารย์ต่อไป

เอกสารอ้างอิง
จุฑารัตน์ นกแก้ว. (ม.ป.ป.). ห้องสมุดกับการรู้สารสนเทศ. กรุงเทพฯ : เอมพันธ์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะอักษรศาสตร์ ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์. (2542). การค้นคว้า
และเขียนรายงาน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ชนะ เวชกุล. (2529). การเขียนรายงานจากการค้นคว้า. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.
ณรงค์ ป้อมบุปผา. (2526). วิธีสอนวิชาการศึกษาค้นคว้าเบื้องต้น. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ :
โอเดียนสโตร์.
นงลักษณ์ ไม่หน่ายกิจ. (2526, มกราคม). “ บริการสนเทศ : ความหมายและประเภท”
บรรณารักษศาสตร์. 3 : 26.
บุปผา สุดสวัสดิ์. (ม.ป.ป.). เทคนิคการเขียนโครงการ การค้นคว้าเขียนรายงานและภาคนิพนธ์.
สมุทรสาคร : วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสาคร.
ประภาวดี สืบสนธิ์. (2540). “พฤติกรรมสารนิเทศ.” ชมรมนิสิตวิชาบรรณารักษศาสตร์.
9 (ฉบับฉลองหลักสูตรบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์) : 24.
พวา พันธุ์เมฆา. (2535). สารนิเทศกับการศึกษาค้นคว้า. กรุงเทพฯ : กรุงเทพฯ.
มาลา เล็กชอุ่ม. (ม.ป.ป.). ห้องสมุดกับการรู้สารสนเทศ. กรุงเทพฯ : จิตรวัฒน์.
ลมุล รัตตากร. (2530). การใช้ห้องสมุด. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : สมาคมห้องสมุด
แห่งประเทศไทย.
วันเพ็ญ สาลีผลิน. (ม.ป.ป.). ห้องสมุดกับการรู้สารสนเทศ. กรุงเทพฯ : ศูนย์ส่งเสริมอาชีวะ.
วาณี ฐาปนวงศ์ศานติ. (2539). สารนิเทศกับการศึกษาค้นคว้า. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ :
โอเดียนสโตร์.
ศันสนีย์ สุวรรณเจตต์. (2546). ห้องสมุดกับการรู้สารสนเทศ. กรุงเทพฯ : พิสิษฐ์การพิมพ์.
สกุลรัตน์ พานิชกุล. (ม.ป.ป.). หนังสือเรียนหมวดวิชาพื้นฐานภาษาไทย 2. กรุงเทพฯ :
ประสานมิตร.
สุนิตย์ เย็นสบาย. (2543). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับหนังสืออ้างอิง. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ :
ศิลปาบรรณาคาร.
สุนีย์ เลิศแสวงกิจ และพิศิษฐ์ กาญจนพิมาย. (2546). ห้องสมุดกับการรู้สารสนเทศ. กรุงเทพฯ :
วังอักษร.
เอื้อมพร ทัศนประสิทธิผล. (2542). สารนิเทศเพื่อการศึกษาค้นคว้า. กรุงเทพฯ : สุวีระยาสาส์น.

2 ความคิดเห็น: